ต้นเดือนเงินเดือนออกแล้ว หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส พอกลางเดือนยิ้มแจ่นๆ และพอปลายเดือนรอยยิ้มหาย อาการแบบนี้หลายคนคงประสบพบเจอมากับตัว เงินใช้ไม่พอ เงินออมก็ไม่มี คงมีคำถามกับตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้น เราบริหารจัดการเงินอย่างไร ถึงใช้ไม่พอ เงินเก็บเงินออมก็ไม่มี หลายคนคงโทษงานว่าเงินเดือนน้อย แต่พอมองเพื่อนรอข้างบางคนเขาก็จ่ายพอนี่นา แถมมีเงินเก็บเงินออมอีกด้วย ทั้งๆที่ฐานเงินเดือนก็ไม่ต่างกัน คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างหรือไม่ว่าเงินที่ได้มาจากทำงานเหนื่อยมาทั้งเดือนหมดไปกับค่าอะไรบ้าง? หลายอาจจะลืมที่มองย้อนกลับไปดูพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองตั้งแต่เงินเดือนเข้าบัญชี คุณจ่ายอะไรไปบ้าง จ่ายไปกับสิ่งที่จะจำเป็นหรือไม่ มาถึงตรงนี้แล้วหลายคนก็คงเริ่มฉุกคิดบ้างแล้วว่าเส้นทางรายจ่ายแต่ละเดือนมีอะไรกัน คงเริ่มคิดที่จะมองหาแนวทางในการเก็บออมเงินว่าทำอย่างไรได้บ้าง ตั้งคำมั่นสัญญากับตัวเองว่าปี 2564 นี้ฉันจะมีเงินเก็บอย่างแน่นอน วันนี้เรามีเทคนิคการเก็บเงินที่มาแนะนำคุณคะ เป็นเทคนิคที่ถ้าใครทำได้รับรองมีเงินเก็บแน่นอน ด้วยกฎ 50-30-20
ฟันธง!!!
เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้อ่านว่ากฎ 50-30-20 ไม่ได้นั่งเทียนแล้วมาบอกต่อแต่อย่างใด แต่กฎ50-30-20 มาจากหนังสือปี 2005 “ All Your Worth: The Ultimate Lifetime Money Plan” เขียนโดย Elizabeth Warren ผู้เชี่ยวชาญด้านการล้มละลายของฮาร์วาร์ดและวุฒิสมาชิกสหรัฐและ Amelia Warren Tyagi ลูกสาวของเธอ
ซึ่งรายละเอียดมาจากการอ้างอิงถึงผลการวิจัยกว่า 20 ปี ที่Warren และ Tyagi เพื่อให้การบริหารเงินของคุณเป็นไปอย่างถูกต้อง โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องทำตามงบประมาณที่ซับซ้อน สิ่งที่คุณต้องทำคือทำให้เงินของคุณสมดุลกับความจำเป็น (needs) ความต้องการ (wants) และเป้าหมายการออมของคุณ (saving) เพียงแค่ใช้กฎ 50-30-20
กฎบริหารเงินเก็บ 50-30-20 คืออะไร?
ก่อนจะลงรายละเอียดของกฎ50-30-20 เราต้องมารู้จักคำ 2 คำนี้ก่อนค่ะ
Needs : สิ่งที่จำเป็น ขาดไม่ได้
Wants : สิ่งที่ต้องการ แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ถึงกับใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้
ที่จริงหลายๆคนคงคิดว่าใช่ใครๆเขาก็รู้ความหมายของคำว่า needs กับ wants อยู่แล้ว ไม่ได้เป็นศัพท์ที่ยากสะหน่อย แต่ในเรื่องของพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินแล้ว บางเดือนเราจ่ายเงินไปกับคำสิ่งที่ต้องการ (wants) เกินมากกว่าความจำเป็น
ขอลงรายละเอียดเลยแล้วกันนะคะว่า เทคนิคการเก็บออมเงินตามกฎ50-30-20
โดยเงินเดือนที่เราจะนำมาคิดนั้น เป็นเงินที่คิดหลังหักภาษี หลังหักเงินที่สมทบเข้าในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หากคุณเป็นข้าราชการก็เป็นเงินหลังหักเข้ากบข. และหลังหักเข้ากองทุนประกันสังคม แล้วจึงนำมาแบ่งเป็น 3 ก้อน ตามกฎ 50-30-20
50% คือ เงินที่คุณจำเป็นต้องใช้จ่ายในแต่ละเดือน (Needs)
ก้อนนี้พูดง่ายๆคือค่าใช้จ่ายที่คุณไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด ค่าอาหารการกิน ค่าผ่อนรถ จ่ายหนี้บัตรเครดิต ค่าอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ เป็นต้น
ยกตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพ หากคุณมีเงินเดือน 20,000 บาท เงินส่วนที่ needs คือ 10,000 บาท
แม้ว่างบประมาณส่วนนี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่หากค่าใช้จ่ายที่จำเป็น(needs) ทั้งหมดของคุณสูงกว่า 50% ของรายได้ Elizabeth Warren แนะนำให้ทำการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่อาจจะนำคุณไปสู่ชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น เช่น มองหาอพาร์ทเมนต์ที่ถูกกว่า เปลี่ยนการเดินทางมาทำงานเพื่อให้ประหยัดเงินมากขึ้น หรือการทำอาหารทานเอง เป็นต้น
30% คือ เงินที่ต้องการใช้จ่าย (Wants)
ก้อนนี้ถ้าจะพูดให้ง่ายๆคือ เงินที่ใช้สนองความสุข เช่น ช้อปปิ้ง กินข้าวนอกบ้าน ท่องเที่ยว เป็นต้น
ยกตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพ หากคุณมีเงินเดือน 20,000 บาท เงินส่วนที่ wants คือ 6,000 บาท แต่ถ้าคุณเห็นว่าคุณจ่ายเงินส่วนนี้เกินความจำเป็น คุณก็มาตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณจะอยู่ได้มั๊ยถ้าไม่ซื้อของสิ่งนั้น เช่นหากเดือนที่แล้วคุณซื้อรองเท้าไปแล้ว เดือนนี้คุณก็อยากได้รองเท้าอีก ทั้งๆที่รองเท้าในตู้ก็มีเยอะมากเกินคนหนึ่งคนจะใส่ได้แล้ว คุณก็จะได้คำตอบว่าคุณจำเป็นต้องซื้อรองเท้าใหม่หรือไม่
20% ก้อนสุดท้าย คือ คือเงินที่เก็บออม (Savings)
20% ของเงินออมนี้สามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการออมของคุณหรือจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่
ยกตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพ หากคุณมีเงินเดือน 20,000 บาท เงินส่วนที่ Savings คือ 4,000 บาท
แม้ว่าการชำระหนี้ขั้นต่ำถือเป็นความจำเป็น (needs) แต่การจ่ายโปะหนี้ก็จะช่วยจะช่วยลดภาระหนี้ที่มีอยู่และดอกเบี้ยในอนาคตของคุณได้ ดังนั้นจึงจัดเป็นเงินออม การออมเงินไว้อย่างสม่ำเสมอ 20% ในแต่ละเดือนสามารถช่วยสร้างแผนการออมที่ชาญฉลาด เช่น เป็นเงินกองทุนยามฉุกเฉินของตัวคุณเอง แม้กระทั่งใช้เพื่อเป็นเงินดาวน์บ้านในอนาคต และเก็บไว้เป็นเงินเก็บหลังเกษียณ คุณอาจจะนำเงินส่วนนี้ไปให้เกิดความงอกเงยโดยการฝากกองทุนรวมตลาดเงิน ซื้อกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมRMF หรือซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษี
จากรายงานข่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พูดถึงหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นในช่วงวิกฤติการของโควิด-19 ส่งผลให้สุขภาพการเงินของคนในประเทศไทยอ่อนแอลง มีผลกระทบจากงานบ้างก็ถูกลดชั่วโมงการทำงาน บ้างก็ถูกปลดออกจากงาน ทำให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลต่อหนี้ครัวเรือน ทำให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากไตรมาส 1 ของปี 2563 ที่หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 80% ของGDP ขยับขึ้นมาที่ 83.8% ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถที่คาดการณ์เหตุการณ์บางอย่างได้ ดังนั้นการเก็บออมเงินจึงเป็นสิ่งจำเป็น
การเก็บเงินตามกฎ 50-30-20 ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตของคุณ แต่เป็นการฝึกให้คุณใช้เงินเป็นระบบมากขึ้น มีความรับผิดชอบกับเงินของคุณโดยการหาสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่คุณใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น ตัวคุณเองก็ไม่ต้องมานั่งปวดหัวกับเงินที่จ่ายไม่พอตัว เพราะคุณได้แบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนเรียบร้อยแล้ว เงินส่วนที่จ่ายสิ่งที่จำเป็น เงินส่วนที่เป็นรางวัลให้ตัวเอง และส่วนของเงินออมที่เก็บไว้ใช้ในอนาคต จากเหตุการณ์โควิด -19 หลายๆ คนคงเห็นแล้วว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ เราไม่สามารถรู้เท่าทันอนาคตเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากเรามีเงินออมไว้บางส่วน ก็จะทำให้เราอุ่นใจขึ้นบ้างได้หากเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับเรา
Reference :
https://www.investopedia.com/ask/answers/022916/what-502030-budget-rule.asp
https://financialslot.com/50-20-30-rule/
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Symposium_08Sep2020.aspx
Pingback: 14 วิธีสร้างสุขภาพการเงินที่ดี เพิ่ม เงินเก็บ ให้งอกเงย ทำตามนี้หมดกังวลเงินไม่พอ
Pingback: ไอเดีย ปณิธานปีใหม่ ( New Year’s Resolutions ) แล้วไปให้ถึง
Pingback: ปั่นจักรยาน ช่วยอะไรได้บ้าง ? ลดน้ําหนัก ลดขา ลดพุง ประหยัดเงิน-เวลา รักษ์โลก