เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 กันมาบ้างพอสมควร และคงภาวนาขออย่าให้เข้ามาในบ้านเรา แต่แล้วมันก็เข้ามาจนได้

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 ได้มีการนำเสนอข่าวว่าพบการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ในประเทศไทย จากคลัสเตอร์ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยทีมแพทย์ได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรมจากการสุ่มตรวจ 10 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ใน 3 ตัวอย่าง และกำลังรอผลสรุปอีก 7 ตัวอย่าง
บทความที่เกี่ยวข้อง
วันนี้ Thatsmattet.com จะพามาทำความรู้จักโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ว่ามีความแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆอย่างไร และประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละยี่ห้อกับสายพันธุ์นี้จะได้ผลแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

โควิด-19 รหัส B.1.351 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งของไวรัสที่อาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ต่อไวรัสลดลง นอกจากนี้อาจรวมไปถึงประสิทธิภาพของวัคซีนด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนที่มีอยู่จะใช้ไม่ได้ผล เพียงแต่ประสิทธิภาพของแต่ละยี่ห้ออาจได้ผลแตกต่างกัน

โดยก่อนหน้านี้ รศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยได้มีคำแนะนำให้มีการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของไวรัสใน 3 สายพันธุ์ ได้แก่
- สายพันธุ์อังกฤษ หรือ B.1.1.7 ซึ่งไวรัสตัวนี้มีความสามารถในการจับตัวกับเซลส์มนุษย์และแบ่งตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้เชื้อไวรัสเกิดการแพร่ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้
- สายพันธุ์บราซิล หรือ P.1 ซึ่งพลาสม่าหรือระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จะมีความสามารถในการจับตัวกับไวรัสสายพันธุ์นี้ได้น้อยลง เมื่อเทียบกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
- สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ B.1.351 โดยไวรัสตัวนี้มีความสามารถหนีภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และอาจมีผลต่อการลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่มากจากการพัฒนาสายพันธุ์ดั้งเดิม
อย่างไรก็ตาม การที่ไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ จะพัฒนาตัวเองได้นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งนี้เพราะไวรัสทุกชนิดมีความสามารถในการกลายพันธุ์ เพื่อแพร่กระจายและเจริญเติบโตอยู่แล้ว
โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ B.1.351 อันตรายมากกว่าเดิมหรือไม่?
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลหรือหลักฐานมากพอที่จะชี้วัด ว่าไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ไหนมีความรุนแรงมากที่สุด หรือรุนแรงมากกว่าชนิดใด แต่การติดไวรัสดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงกว่าเดิม โดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดคือผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว
ซึ่งโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์ที่พบในสหราชอาณาจักร อินเดีย บราซิล และ แอฟริกาใต้ อาจจะทำให้ติดเชื้อหรือติดต่อกันง่ายขึ้น โดยไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้ มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจในตำแหน่งปุ่มโปรตีนของตัวไวรัส ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการยึดเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ ทำให้ไวรัสมีความสามารถที่จะเข้าสู่เซลล์ในร่างกายอีกทั้งยังสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและเร็วขึ้น
วัคซีนจะสามารถใช้ได้ผลหรือไม่ ?
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่า วัคซีนที่มีการคิดค้นขึ้นมานั้น พื้นฐานมาจากความต้องการในการรับมือกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม วงการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ยังมีความเชื่อว่า วัคซีนจะยังคงใช้ได้ผล แม้ว่าประสิทธิภาพอาจจะไม่ดีเท่าเดิมในการจัดการกับแต่ละสายพันธุ์
วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer)
ซึ่งผลการทดลองที่พบว่า วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) อาจป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆที่กลายพันธุ์ไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ แต่ประสิทธิภาพอาจลดลงเล็กน้อย ผลของประสิทธิภาพ อยู่ที่ประมาณ 75%
วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทโนวาแวกซ์ (Novavax)
อีกทั้งยังอาจรวมถึงวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทโนวาแวกซ์ (Novavax) ดูเหมือนว่าจะใช้ป้องกันได้เช่นกัน โดยผลของประสิทธิภาพ อยู่ที่ประมาณ 60.1% (สำหรับ non-HIV)
วัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-AstraZeneca)
นอกจากนี้ ข้อมูลจากทีมคิดค้นวัคซีนอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตร้าเซนเนก้า (Oxford-AstraZeneca) ได้ระบุว่า วัคซีนนี้ช่วยป้องกันไวรัสสายพันธุ์อังกฤษได้ แต่มีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ลดลง โดยผลของประสิทธิภาพ อยู่ที่ประมาณ 10.4% แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงป้องกันการเกิดอาการป่วยที่รุนแรงได้
วัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna)
ในส่วนของวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ผลการทดลองพบว่า วัคซีนของทางบริษัทใช้ได้ผลกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ แต่การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันอาจไม่แข็งแรงเท่าเดิม ผลของประสิทธิภาพ อยู่ที่ประมาณ 75%
วัคซีนของบริษัทวัคซีนซิโนแวค (Sinovac)
สำหรับ Sinovac ถ้าเทียบระดับ antibody ที่ขึ้นหลังฉีดแล้ว คาดว่าคงแทบไม่ได้ผลกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้
ทำไมโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ B.1.351 ถึงดื้อวัคซีน ?
สาเหตุหลักที่ทำให้โควิด-19 สายพันธุ์แอริกาใต้ หรือ B.1.351 ดื้อต่อวัคซีนและ antibody มากนั้น มาจากการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่ E484 บน spike protein ของไวรัส ที่เป็น E484K นั่นคือ การเปลี่ยนกรดอะมิโนจากเดิมที่เป็น glutamate ไปเป็น lysine ซึ่งมีผลทำให้ antibody จับกับ spike protein ของไวรัสได้ยากขึ้น
นอกจากนี้การกลายพันธุ์ในตำแหน่งอื่นของไวรัสที่สำคัญอีกตำแหน่ง คือ N501Y ซึ่งเหมือนกับสายพันธุ์อังกฤษ จึงทำให้เชื้อไวรัสสามารถจับตัวกับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดียิ่งขึ้ นอกจากนี้ยังพบว่าตำแหน่ง K417N ทำให้เชื้อไวรัสจับกับเซลล์ได้ดีขึ้นอีกด้วย
โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ B.1.351 กลายเป็นเจ้าพ่อในวงการไวรัส

วันที่ 22 พ.ค.64 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึงโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ว่า จัดเป็นเจ้าพ่อ ในขณะที่สายพันธุ์อังกฤษกลายเป็นแค่อนุบาล
ทั้งนี้พบว่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้เป็นสายพันธุ์ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง นอกจากนี้ผลจากการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าสายพันธุ์นี้มีการดื้อต่อวัคซีนแทบทุกชนิด
ได้ทำความรู้จักกับสายพันธุ์เจ้าพ่อกันโดยสังเขปแล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนจะได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึงและทันเวลา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรายังคงต้องปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่องเพื่อยกการ์ดให้สูงขึ้น ได้แก่ การล้างมือ การรักษาระยะห่าง และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อ เพราะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงยิ่งต้องเพิ่มความใส่ใจในการป้องกันตัวเองเพิ่มมากขึ้น
Resources ;
https://www.bbc.com/thai/international-56239313
https://www.dailynews.co.th/politics/825395
https://www.naewna.com/local/574951
https://www.tnnthailand.com/news/covid19/80550/
https://www.komchadluek.net/news/regional/467698
https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/148004