สวัสดีครับ วันนี้เราจะมาว่ากันเรื่องของ โทษทางอาญา ซึ่งหลายคนคงได้ยินคำนี้มาบ่อยครั้งจากการดูข่าวสารต่างๆในบ้านเมืองเรา แต่อาจจะไม่เข้าใจว่าคืออะไร วันนี้ผมขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจของโทษทางอาญาให้กระจ่างมากขึ้น ตามฉบับกฎหมายใกล้ตัวรู้ไว้ใช่ว่า มาเริ่มกันครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
โทษทางอาญา หมายถึงอย่างไร
“โทษ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน ได้ให้ความหมายไว้เป็น 2 แนว คือ
- ในกรณีที่เป็นคำนาม ให้หมายถึงความไม่ดี หรือ ความชั่ว เช่นโทษแห่งความเกียจคร้าน
- แต่ถ้ากรณีเป็นคำกิริยา ก็จะหมายถึง การอ้างเอาความผิดให้ เช่น อย่าโทษเด็กเลย
โทษทางอาญา
หมายถึง มาตรการหรือ วิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาตามที่ ประมวลกฎหมายอาญากำหนดไว้ หรือตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่น ๆ
การจะลงโทษทางอาญา สำหรับประเทศไทยได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับ 2560 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด โดยบัญญัติไว้ว่า
มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายจองศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ
การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมจะกระทำมิได้
มาตรา 29 บุคคลใดไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนี้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในที่กระทำความผิดมิได้
ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเหมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี
ในคดีอาญา จะบังคับให้บุคคลให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้
คำขอประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาต้องได้รับการพิจารณา และจะเรียกหลักประกันจนเกินควรแก่กรณีมิได้ การไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
ประเภทของโทษทางอาญา
โทษทางอาญานั้นสามารถแบ่งแยกออกเป็น 5 ประเภทแตกต่างกันออกไป โดยมาตรา 18 ของประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้
(1) ประหารชีวิต
(2) จำคุก
(3) กักขัง
(4) ปรับ
(5) ริบทรัพย์สิน”
การลงโทษ
ส่วนวิธีการที่จะใช้ในการลงโทษจะเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ กล่าวคือ
- การประหารชีวิต หากผู้ใดต้องโทษประหารชีวิตให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารเคมีให้ตาย (วิธีนี้เป็นการแก้ไขจากเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยอมของแต่ละยุคสมัย ซึ่งเดิมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นกำหนดให้นำผู้ต้องโทษประหารไปตัดคอ แต่ต่อเมื่อ พ.ศ. 2546 ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นว่าให้นำไปยิงเป้า) แต่อย่างไรก็ตาม การจะลงโทษประหารนั้น กฎหมายยังได้ระบุข้อยกเว้นไว้ว่า โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี
ส่วนสถานที่ประหารชีวิตนั้น ให้ประหาร ณ ตำบลและเวลาที่เจ้าหน้าที่ในการนั้นจะเห็นสมควร (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 247 วรรค 3)
ในกรณีที่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประการชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี
อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ต้องรับโทษประหารชีวิตเป็นหญิงที่ยังตั้งครรภ์อยู่ กฎหมายให้รอการลงโทษประหารชีวิตไว้ จนพ้นกำหนดสามปีนับแต่คลอดบุตรแล้ว และให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต เว้นแต่เมื่อบุตรถึงแก่ความตายก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ในระหว่างสามปีนับแต่คลอดบุตร ให้หญิงนั้นเลี้ยงดูบุตรตามความเหมาะสม ในสถานที่ที่สมควรแก่การเลี้ยงดูบุตรภายในเรือนจำ
- โทษจำคุก ก็หมายถึงการที่นำจำเลยไปขังไว้ ตามกำหนดเวลาตามที่ศาลมีคำพิพากษานั่นเอง ส่วนสถานที่จำคุกนั้น ก็เหมือนอย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว คือในเรือนจำนั้นเอง มิใช่สถานที่อื่นมิฉะนั้นจะเป็นเรื่องของโทษกักขัง ซึ่งจะกล่าวต่อไป
- โทษกักขัง เป็นโทษทางอาญาที่ต่างจากโทษจำคุก โดยผู้ใดต้องโทษกักขัง ให้กักตัวไว้ในสถานที่กักขังซึ่งกำหนดไว้ อันมิใช่เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน และถ้าศาลเห็นเป็นการสมควร จะสั่งในคำพิพากษาให้กักขังผู้กระทำความผิดไว้ในที่อาศัยของผู้นั้นเอง หรือของผู้อื่นที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือสถานที่อื่นที่อาจกักขังได้ เพื่อให้เหมาะสมกับประเภทหรือสภาพของผู้ถูกกักขังก็ได้
ผู้ต้องโทษกักขังตามที่กำหนดดังกล่าวข้างต้น จะได้รับการเลี้ยงดูจากสถานที่นั้น แต่ภายใต้ข้อบังคับของสถานที่ ผู้ต้องโทษกักขังมีสิทธิที่จะรับอาหารจากภายนอกโดยค่าใช้จ่ายของตนเอง ใช้เสื้อผ้าของตนเอง ได้รับการเยี่ยมอย่างน้อยวันละหนึ่งชั่วโมง และรับส่งจดหมายได้ (ปัจจุบัน ไมแน่ใจว่าจะมีคนส่งจดหมายกันหรือไม่ หรืออาจะต้องแก้ไขกฎหมายให้สอดคลองกับยุคเทคโนโลยีอีกครั้ง) แต่ทั้งนี้ผู้ต้องโทษกักขังจะต้องทำงานตามระเบียบ ข้อบังคับและวินัย ของสถานที่นั้น แต่หากผู้ต้องโทษกักขังประสงค์จะทำงานอย่างอื่นที่ไม่ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับ วินัย หรือความปลอดภัยของสถานที่กักขัง ก็สามารถอนุญาตได้
- โทษปรับ คือการลงโทษด้วยการให้ผู้กระทำความผิดจ่ายเงินให้แก่รัฐ ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 28 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องโทษปรับ ผู้นั้นจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดไว้ในคำพิพากษาต่อศาล” แต่ถ้าไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ และการกักขังแทนค่าปรับ ให้ถืออัตราสองร้อยบาทต่อหนึ่งวัน (กรณีอาจต้องมีการเปลี่ยนจำนวนเงินอีก เนื่องจากปัจจุบันค่าครองชีพสูงมากขึ้นทุกวัน อาจต้องปรับให้เท่ากับค่าจ้างแรงงานของจังหวัดที่แพงที่สุดก็ได้) แต่ห้ามกักขังเกินกำหนดหนึ่งปี เว้นแต่ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งให้กักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกิดกว่าหนี้ปีแต่ไม่เกินสองปีก็ได้
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาไม่เกินแปดหมื่นบาท และผู้ต้องโทษที่มิใช่นิติบุคคลไม่มีเงินชำระค่าปรับ อาจยื่นคำร้องเพื่อขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ
- การริบทรัพย์สิน คือการริบเอาทรัพย์สินที่กฎหมายกำหนดว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้มาเป็นของรัฐ เช่น ไม้เถื่อน ยาเสพติด อาวุธปืน เป็นต้น ไม่ว่าทรัพย์สินเหล่านั้นจะเป็นของผู้กระทำความผิดและมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบถึงโทษทางอาญาแล้วว่ามีประเภทอะไรบ้าง การที่ผู้พากษาคดีจะหยิบยกโทษประเภทใดมาปรับใช้ และจะลงโทษให้หนักเบาเพียงใด คงต้องอยู่ในดุลยพินิจของศาลที่จะเห็นสมควรแล้วแต่กรณีหรือและแต่คดีไป ซึ่งในการนี้มีแนวความคิดของการลงโทษที่น่าจะสรุปคร่าว ๆ ดังนี้คือ
แนวความคิดของการลงโทษ
ก. แนวความคิดการลงโทษเพื่อแก้แค้นทดแทน (Retributive Theory) แนวความคิดนี้เป็นผลสีบเนื่องมาจากแนวความคิดทางการเมือง การปกครอง ศาสนา และระบบสังคมในอดีต ซึ่งมักจะใช้วิธีการที่รุนแรง ในทำนอง “ตาต่อตาฟันต่อฟัน” หรือลักษณะที่ให้สาสมกับความผิดที่ได้กระทำลงไป
ข. แนวความคิดการลงโทษเพื่อข่มขู่ยับยั้ง (Deterrence Theory) แนวความคิดนี้ เห็นว่าการลงโทษสามารถข่มขู่และยับยั้งผู้กระทำความผิด และบุคคลอื่นที่ได้เห็นตัวอย่าง เกิดความเกรงกลัวโทษ จนไม่กล้าที่จะกระทำผิดขึ้นอีก
ค. แนวความคิดในการลงโทษเพื่อแก้ไขฟื้นฟู (Rehabilitative Theory) แนว ความคิดนี้ มองว่าการลงโทษน่าจะมีการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตัวเป็นคนดีขึ้น เพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิดกลับมากระทำผิดซ้ำ รวมทั้งพยายามที่จะช่วยให้ผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมได้ตามปกติ จึงต้องมีการให้การเรียนรู้ การอบรม การฝึกอาชีพ ให้เพียงพอที่จะสามารถดำเนินชีวิตได้เมื่อพ้นโทษแล้ว
อนึ่ง นอกจากโทษทางอาญาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการลงโทษอีกประเภทหนึ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “โทษทางแพ่ง” ก็ได้ ด้วยวิธีการบังคับให้ชำระหนี้หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่นในกรณีละเมิด เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นโทษทางอาญา แต่ยังมีวิธีการอีกบางประการซึ่งใกล้เคียงกับโทษทางอาญา แต่ไม่ถือเป็นโทษทางอาญา แต่ถือเป็นเพียง “วิธีการเพื่อความปลอดภัย” ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ประเภทดังนี้
(1) กักกัน
(2) ห้ามเข้าเขตกำหนด
(3) เรียกประกันทัณฑ์บน
(4) คุมตัวไว้ในสถานพยาบาล
(5) ห้ามการประกอบอาชีพบางอย่าง
สุดท้ายนี้ ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงเกร็ดความรู้ เล็ก ๆ น้อย ๆ และผู้เขียนหวังว่าท่านทั้งหลายจะปลอดภัย ไม่ต้องเข้าข้องเกี่ยวหรือรับโทษทางอาญาแต่ประการใดครับ
ทะแนะ
Pingback: ทะแนะ ตอน ต้นไม้รุกล้ำ ปัญหาคลาสสิกในเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับบ้าน