โดยทั่วไปแล้วธรรมชาติของเด็กที่เขาต้องการมากที่สุดจากพ่อแม่นั่นก็คือ ความรักและการยอมรับจากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เด็กมักอยากได้รับคำชมเชยว่า “หนูเป็นเด็กดี เด็กน่ารักมากเลยจ้า” เชื่อฟังผู้ใหญ่ ทำตามที่ผู้ใหญ่อยากให้ทำให้เป็น แต่อย่างที่รู้กันว่าเด็กก็มีหลายแบบ หลายอารมณ์ และหาก ลูกดื้อ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง แล้วล่ะก็ พ่อแม่ก็อาจจะมีคำถามว่าทำไม แล้วจะแก้ไขและส่งเสริมได้อย่างไร
บทความที่เกี่ยวข้อง
1. อย่าให้ลูกรู้สึกว่าระเบียบวินัยเป็นการลงโทษ
ระเบียบวินัยที่เรากำลังปลูกฝังลูกอยู่นั้น ลูกอาจรู้สึกราวกับว่านี่คือการลงโทษลูกที่ได้รับจากพ่อแม่ แต่อย่างไรก็ตามวินัยเป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่ทำให้เด็กมีส่วนร่วม เพื่อช่วยปั้นตัวตนในด้านศีลธรรมของพวกเขา ซึ่งเป็นวิธีการสอนเด็กให้รับรู้จากการกระทำผิดของตัวเอง และนี่คือทักษะที่สําคัญต่อการอยู่ร่วมในสังคม ให้รู้ว่าอะไรสามารถทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรถูก อะไรผิด รู้ขอบเขตพฤติกรรมที่ควรและไม่ควรทำในครอบครัว โรงเรียน และสังคม ซึ่งนี่เป็นการสอนให้เด็กควบคุมตนเองและยับยั้งชั่งใจ
วิธีแก้ไขหรือส่งเสริม : สั่งสอน ชี้แนะให้เด็กรู้จักขอบเขตที่ชัดเจนของพฤติกรรมว่าสิ่งไหนที่ทำได้และทำไม่ได้
ตัวอย่างเช่น
หากลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเรื่องใดก็ตาม ควรพูดตักเตือนทันที อย่าปล่อยให้ผ่านไป โดยใช้คำพูดที่ สั้นๆ ง่ายๆ กระชับ และน้ำเสียงที่ใช้ สีหน้ากลางๆ ไม่ใช้อารมณ์ แต่ท่าทางเอาจริง ซึ่งเราสามารถฝึกหน้าตา คำพูด และน้ำเสียงได้ด้วยตัวของคุณเองกับหน้ากระจก เพื่อหาทางสายกลางให้กับตัวเอง เพราะคุณเองก็คงไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม หรือหากใช้น้ำเสียงที่นุ่มเกินไปก็อาจจะทำให้ลูกรู้สึกว่าเราไม่เด็ดขาด ดังนั้นต้องหาจุดตรงกลางที่เหมาะสม
2. เสริมความสนใจทางบวกเมื่อลูกทำตัวดี
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าเด็กมักต้องการความรัก ความใส่ใจ คำพูดดีๆ จากจากพ่อแม่ เมื่อเด็กทำตัวดี เชื่อฟัง ว่านอนสอนง่ายมาเรื่อยๆ แต่พ่อแม่เองนี่แหละที่ทำเฉย ไม่สนใจ กับการกระทำดีนั้น แต่หากบังเอิญเด็กได้ทำตัวไม่ดี ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ขึ้นมาสักครั้งสองครั้ง พ่อแม่ก็รีบหันเข้ามาสนใจ ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมนั้นๆและเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเมื่อเด็กได้แสดงพฤติกรรมเหล่านี้ก็ได้รับความสมใจ แถมบางครั้งก็อาจจะได้ขนม ของเล่นอีกด้วย เด็กก็จะเรียนรู้ที่จะทำตัวไม่ดีเมื่ออยากได้ความสนใจหรือเวลาอยากได้อะไรจากพ่อแม่
วิธีแก้ไขหรือส่งเสริม : พ่อแม่ควรให้ “ความสนใจทางบวก” เวลาลูกทำตัวดี ให้เป็นคำชม ยิ้มให้ลูก ลูบศีรษะ กอด พยักหน้าแสดงความสนใจกับพฤติกรรมที่ดี ทำเช่นนี้บ่อยๆ ทุกครั้งที่ลูกทำตัวดี
ซึ่งการตอบสนองเช่นนี้เป็นเสมือนการสร้างแรงจูงใจในการทำตัวดีให้กับลูก
3. ลูกเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสมจากพ่อแม่ หรือคนใกล้ตัว
อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า เด็กเหมือนฟองน้ำ เขาจะซึมซับพฤติกรรมจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา
วิธีแก้ไขหรือส่งเสริม : สิ่งแรกที่ทำได้คือเตือนตัวเองว่าลูกจะจดจำและเรียนรู้จากเรา ดังนั้นเราต้องเป็นต้นแบบที่เหมาะสมให้กับลูก แต่หากเราเผลอไผลพลาดไป ก็ต้องยอมรับผิดกับพฤติกรรมของตัวเรา และหากกระทบกับตัวลูกก็ควรกล่าวขอโทษ พร้อมบอกเหตุผล
4. ให้ทางเลือกแก่ลูกของคุณ
อย่างที่รู้กันว่าเด็กหลายคนมีความเป็นตัวเองสูง ต้องการจะทำในสิ่งที่ตนอยากทำ เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง หากพ่อแม่บอกว่าต้องทำสิ่งนี้ เด็กบางคนก็จะเกิดการต่อต้าน ไม่อยากทำ
วิธีแก้ไขหรือส่งเสริม : ให้ลูกได้มีส่วนในการตัดสินใจ เช่น หากลูกกำลังเล่นของเล่นอยู่แต่เบื่อแล้วต้องการจะมาระบายสีแทน คุณต้องการให้เก็บของเล่นที่เล่นเสร็จแล้วก่อน เพื่อจะได้ทำกิจกรรมใหม่ หากคุณบอกให้ลูกเก็บ แต่ลูกไม่ยอมทำตาม คุณก็ให้เขาเลือกว่าจะเก็บตอนนี้เลยแล้วไประบายสี หรือจะเก็บอีกภายใน 2 นาทีแล้วได้ระบายสีที่ตามที่อยากทำ
รีวิว 5+1 ของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กช่วงอายุ 6-12 เดือน เล่นสนุกได้ทุกวัน (thatsmatter.com)
5. พื้นฐานทางอารมณ์ของลูก
เด็กแต่ละคนมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่แตกต่างกันไป บางคนเป็นเด็กที่มีพื้นอารมณ์อ่อนไหว หงุดหงิดง่าย ปรับตัวยาก แสดงพฤติกรรมถดถอย ทำตัวไม่สมวัย เด็กกลุ่มนี้มักจะแสดงท่าทีต่อต้านให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
วิธีแก้ไขหรือส่งเสริม : พ่อแม่ควรยอมรับและทำความเข้าใจในพื้นอารมณ์ของลูก และตอบสนองลูกให้เหมาะกับพื้นอารมณ์ของเขา ไม่กดดันลูกจนทำให้ลูกรู้สึกต่อต้าน ช่วยให้ลูกปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ถามถึงความรู้สึก ให้รู้ว่าพ่อแม่อยู่ตรงนี้ พร้อมที่จะช่วยเหลือ
นี่ก็เป็น 5 ข้อที่พ่อแม่อาจจะช่วยให้พ่อแม่รู้ถึงที่มาที่ไปของพฤติกรรมที่ ลูกดื้อ ต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง หากสังเกตแล้วลูกอาจจะมีพฤติกรรมมาจากสาเหตุเหล่านี้ ควรรีบช่วยปรับพฤติกรรมของลูกและตัวคุณเอง ก็จะช่วยให้ลูกเชื่อฟังมากขึ้น ให้ความร่วมมือมากขึ้น ทำให้ทั้งตัวคุณและลูกมีความสุขมากขึ้น
Resources ;
https://health.clevelandclinic.org/discipline-top-dos-and-donts-when-your-kids-wont-listen/
5 Dos and Don’ts to Help You Survive Your Toddler’s Tantrums
และหนังสือ
How to Talk so Kids Will Listen and Listen so Kids Will Talk