แม้กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด -19 จะเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน แต่สำหรับผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 นั้น จะเป็นกลุ่ม ผู้สูงอายุ ซะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ผู้สูงอายุกลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงที่กลุ่มคนวัยทำงานเป็นผู้นำเชื้อมาสู่ผู้สูงอายุ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ร่วมใจกันปกป้อง ผู้สูงอายุ ให้ปลอดภัยจากเชื้อ COVID-19
ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ต่างระบุว่าถึงกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 COVID-19 ตรงกัน คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสและมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้ว่าสุขภาพโดยรวมจะแข็งแรงสมบูรณ์ดีก็ตาม ยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ยิ่งมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำลงตามวัย
เมื่อผู้สูงอายุในครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 และเพื่อป้องกัน ไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อต่อลูกหลาน สมาชิกในครอบครัว ท่านควรยกเลิกการกลับบ้านต่างจังหวัด และหยุดเอาเชื้อกลับไปแพร่ให้คนที่คุณรักที่บ้าน จากยอดผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะจากการติดเชื้อ อาจเกิดขึ้นจากคนในบ้าน การกลับบ้านแล้วไม่กักตัว 14 วัน เท่ากับการทำร้ายคนที่เรารักทางอ้อม ถึงเราไม่แสดงอาการก็ไม่ได้แปลว่าเราไม่ได้เป็นพาหะ เราอาจทำร้ายคนที่เรารักโดยไม่รู้ตัว
ผู้สูงอายุ เป็นบุคคลที่มีภูมิต้านทานต่ำกว่าคนปกติ จึงมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ทุกบ้านควรประกาศภาวะฉุกเฉินในครอบครัว อย่านำเชื้อเข้าบ้าน ด้วยมาตรการดังต่อไปนี้
-
แยกผู้สูงอายุ
– แยกผู้สูงอายุออกจากสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้าน
– แยกพื้นที่ที่ใช้ในบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น
– แยกสำรับอาหารและไม่รับประทานอาหารใกล้ ๆ กัน
– แยกของใช้ส่วนตัว เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ
-
หยุดแพร่เชื้อเข้าสู่บ้าน
– ก่อนเข้าบ้าน ควรทำการล้างมือให้สะอาด หรือหากเป็นไปได้ควรอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
– การพูดคุยกับผู้สูงอายุ
* ในเรื่องการใส่หน้ากากอนามัย
* หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิด เช่น การกอด การอุ้ม
* การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร
-
เพื่อคนที่เรารัก
– ไม่ควรมาหาผู้สูงอายุในบ้าน ภายใน 14 วัน หลังกลับจากพื้นที่สุ่มเสี่ยง
– ส่งความห่วงใยผ่านทางโทรศัพท์มือถือ
– สมาชิกในครอบครัวทุกคนต้องร่วมมือ ร่วมใจกันดูแลความปลอดภัยผู้สูงอายุในครอบครัว เพื่อความปลอดภัยของทุกคนในบ้าน
-
เตรียมยา อาหาร น้ำ สำหรับผู้สูงอายุ
– หากผู้สูงอายุเป็นผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาที่ใช้รักษาโรคประจำตัวของผู้สูงอายุไว้อย่างน้อย 3 เดือน
– หากมีไข้ หายใจหอบ ไอ มีอาการคล้ายหวัด รีบไปพบแพทย์
– เตรียม อาหาร น้ำ ให้เพียงพอ
ร่วมมือร่วมใจกันกันหยุดแพร่เชื้อให้กับคนที่เรารักโดยการ รักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องช่วยกันปกป้องดูแล คนที่เรารักและรักเรามากที่สุด เพื่อความปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) ในประเทศไทย มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อโควิด-19 และผลยืนยันเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งผู้ป่วยยืนยันก็เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว แต่ขณะเดียวกันสำหรับผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ รวมถึงคนที่ต้องเฝ้าระวังตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณะสุข ต้องกักตัวเองในระยะเวลา 14 วัน โดยไม่ไปสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้อื่น เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่เชื้อที่จะทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดร้ายแรงกว่า
การจัดการด้านอาหารและโภชนาการช่วง 14 วันที่ต้องอยู่บ้าน
สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ระบาด ประชาชนควรอยู่ที่บ้าน 14 วัน เพื่อเฝ้าระวังอาการ นอกจากจะไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นแล้ว ต้องเลือกปรุงและกินอาหารให้เหมาะสม ถูกหลักโภชนาการ โดยกินอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ได้แก่ กลุ่มข้าว แป้ง เช่น ข้าวซ้อมมือ เส้นหมี่แห้ง ข้าวเหนียว ซึ่งทำให้อิ่มนานและเก็บไว้ได้นาน อาหารกลุ่มนี้เป็นกลุ่มของคาร์โบไฮเดรตและเป็นแหล่งของพลังงาน ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย และการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ร่วมกับการกินอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
หลักการเลือกซื้ออาหาร
- เลือกรายการอาหารที่ง่าย และสะดวกต่อการปรุงอาหาร และยังคงมีคุณค่าที่ดีทางโภชนาการ
- ควรเป็นเมนูที่เน่าเสียยาก กินได้ง่าย เช่น ข้าวสวย ข้าวเหนียว เนื้อสัตว์แดดเดียว-รวน-ทอดแห้ง หรือเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น กุนเชียง หมูยอและไข่ที่ปรุงประกอบด้วยวิธีต่างๆ เช่น ไข่ต้ม ไข่พะโล้ ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำพริกต่างๆ กินคู่กับผัก ตบท้ายด้วยผลไม้
- การดัดแปลงวัตถุดิบที่มีอยู่เพื่อใช้ปรุงอาหารให้มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น เช่น นำข้าวเหนียวนึ่งผสมกับถั่วต่างๆหรืองา
- เลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย เช่น ปลาสดต่างๆ หมูเนื้อสัน เนื้อไก่ส่วนอก แช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศา หรือโปรตีนจากพืช เช่น โปรตีนเกษตร ฟองเต้าหู้ เห็ดหอมแห้ง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ซึ่งเก็บไว้ได้นาน
- เลือกซื้อผักประเภทหัว เช่น กะหล่ำปลี แครอท บรอกโคลี ฟักทอง เนื่องจากเก็บได้นาน
- เลือกซื้อผลไม้สดที่รสชาติไม่หวานมาก เช่น มะละกอสุก แก้วมังกร ฝรั่ง สาลี่ แบบเป็นผลๆมา เพื่อปอกกินเองที่บ้าน ช่วยป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค
- เลือกซื้อนมสดรสจืดพร่องมันเนยหรือขาดมันเนยแบบ UHT และดื่มนมวันละ 1 – 2 แก้ว
- น้ำเปล่าควรเลือกซื้อที่มีการบรรจุฝาปิดสนิท และดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้วเพื่อรักษาสมดุลภายในร่างกาย และขับของเสียออกจากร่างกาย
โดยทั่วไปในช่วงที่ต้องซื้ออาหารกักเก็บที่บ้านไว้เป็นช่วงเวลาหลายวัน จึงควรเลือกซื้ออาหารที่สามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง อาหารตากแห้ง ไข่เค็ม ปลาเค็ม กะปิ ฯลฯ แต่อาหารที่เก็บไว้ได้นานเหล่านี้ มักเป็นอาหารที่มีการใส่เกลือลงในอาหาร ซึ่งให้โซเดียมสูง อาหารที่มีเกลือ หากกินมากๆ จะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมาก เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง และส่งผลเสีย
ต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ นอกจากนี้ การใส่ผงชูรส ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า โมโนโซเดียมกลูตาเมต ก็เป็นแหล่งโซเดียม จึงควรงดการปรุงรสด้วยผงชูรส และการปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรส เช่น ซอสปรุงรส ซีอิ๊วต่างๆ น้ำปลา ซึ่งมีโซเดียมสูงเช่นกัน จึงควรลดปริมาณการใช้ลง ควรเลือกอาหารที่สดใหม่จะทำให้ได้รสอร่อยโดยธรรมชาติ ยกตัวอย่างการปรุงต้มยำให้มีรสอร่อย อาจใส่เครื่องเทศ เช่น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก เพื่อให้มีรสอร่อยจากเครื่องเทศ แทนรสอร่อยจากเครื่องปรุงรส ทำให้ใส่เครื่องปรุงรสน้อยลง ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่วนขนมถุง ขนมซอง ขนมขบเคี้ยว ขนมกรุบกรอบทั้งหลาย ก็มีโซเดียมสูง จึงควรหลีกเลี่ยงในการซื้อขนมเหล่านี้มากิน หากกินผลไม้แทนขนม ก็จะทำให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์มากกว่า
วิธีการเก็บอาหาร
- ข้าวสาร และอาหารแห้ง ให้เก็บในที่ที่มั่นใจว่าแห้งสนิท เช่น ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกัน มอด มด หนู แมลงสาบ ฯลฯ
- ไข่ เก็บในตู้เย็น เอาด้านแหลมลงล่าง ด้านป้านขึ้นบน
- เนื้อสัตว์ จำพวก หมู ไก่ วัว ให้ทำการล้างให้สะอาด แล้วหั่นเป็นชิ้น จากนั้นแบ่งใส่ถุงในปริมาณที่กินพอดีมื้อ (ขนาดใช้ 1 ครั้ง) มัดปากถุงให้แน่นหนา นำไปแช่ในตู้เย็นช่องฟรีซ
- อาหารทะเล เช่น ปลา กุ้ง ปลาหมึก สดๆ ให้ทำการล้างให้สะอาด และตัดส่วนที่ไม่รับประทานทิ้งไปก่อน จากนั้นแบ่งใส่ถุงในปริมาณที่กินพอดีมื้อ (ขนาดใช้ 1 ครั้ง) มัดปากถุงให้แน่นหนา นำไปแช่ในตู้เย็นช่องฟรีซ
- ผักชนิดใบต่างๆ เช่น ผักชีต้นหอม ใบกะเพรา ใบโหระพา ควรห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษซับน้ำมัน แล้วนำใส่ถุง มัดปากถุงให้แน่นหนา หลังจากนั้นนำเก็บในช่องผัก เมื่อต้องการนำมาใช้ จึงค่อยนำออกมาล้าง
- ผักประเภทหัว เช่น แครอท กะหล่ำดอก บรอคโคลี ห่อด้วยด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ หรือกระดาษซับน้ำมัน แล้วนำเก็บไว้ในตู้เย็นช่องเก็บผัก เมื่อต้องการนำมาใช้ จึงค่อยนำออกมาล้าง
- เครื่องแกงที่ตำเอง ให้เก็บใส่ถุงและมัดปากถุง โดยแบ่งเป็นส่วนๆ ตามปริมาณที่จะใช้ 1 ครั้ง
- ผลไม้ที่มีเปลือกหนา เช่น แตงโม ส้มโอ สามารถเก็บได้นานที่อุณหภูมิห้อง
- ผลไม้ชนิดเปลือกบาง และชนิดไม่มีเปลือก กล้วย ควรเด็ดออกเป็นลูกๆ เพื่อไม่ให้สุกเร็ว ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ เก็บในตู้เย็นช่องเก็บผัก ส้ม แอปเปิล ฝรั่ง สาลี่ ชมพู่ ล้างแล้วเช็ดให้แห้งสนิท แล้วนำใส่ในถุงกระดาษเจาะรู หรือห่อด้วยกระดาษที่ไม่มีลวดลาย เก็บในตู้เย็นช่องเก็บผัก
- อาหารที่ไม่จำเป็นต้องแช่ในตู้เย็น เพราะมีอายุการเก็บนาน ได้แก่ ฟักทอง เผือก มัน มันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ แตงโม น้ำมัน มะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ ของดอง ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นจะทำให้เสียเร็วกว่าอยู่ข้างนอก
การปรุงประกอบอาหาร
- อาหารประเภทผักสด เนื้อสัตว์สด ต้องล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุง
- ก่อนนำเนื้อสัตว์แช่แข็งมาปรุงอาหาร ให้นำมาวางไว้ในช่องธรรมดาก่อน เพื่อให้มีการคลายความเย็น ไม่ควรนำอาหารที่แช่แข็งไปแช่ในน้ำร้อน จะทำให้คุณค่าทางอาหารลดลง
- ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อน
- มีการปกปิดอาหารปรุงสำเร็จและอาหารพร้อมบริโภคทุกชนิด
- ไม่วางอาหารและภาชนะบรรจุอาหารบนพื้นโดยตรง
- รับประทานอาหารภายใน 4 ชั่วโมง หลังปรุงประกอบ
- ผู้เตรียม/ปรุงอาหารต้องสวมผ้ากันเปื้อนและหมวกคลุมผมและควรมีผ้าปิดปากขณะปรุง ตักอาหาร
- ผู้เตรียม/ปรุงอาหารต้องล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมปรุงอาหาร และหลังใช้ห้องส้วม
- ผู้เตรียม/ปรุงอาหาร ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารปรุงสำเร็จ
ข้อแนะนำในการสั่งอาหารนอกบ้าน
- ควรเลือกร้านที่สะอาด ได้มาตรฐาน
- เลือกเมนูที่ไม่หวานจัด ไม่มันจัด และไม่เค็มจัด
- เน้นเมนูอาหารที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการกินอาหารดิบหรือ สุกๆ ดิบๆ
- ควรอุ่นอาหารให้เดือดก่อนกิน หลีกเลี่ยงการกินอาหารจากภาชนะจากร้าน เช่น ถุงหรือกล่อง
- ไม่กินอาหารจานเดียวกันหรือชุดเดียวกันร่วมกับคนอื่น
ข้อแนะนำในการสั่งอาหาร delivery
- ต้องมั่นใจว่าร้านที่สั่งทำอาหารสะอาด สุกใหม่เสมอ
- เมนูอาหารที่สั่ง ครบ 5 หมู่ ต้องมีผัก ไม่หวาน ไม่มัน ไม่เค็ม
- เน้นสั่งอาหารประเภทต้ม แกง นึ่ง อบ น้ำพริก ผัก ย่างไม่ไหม้เกรียม
- เลี่ยงการทานอาหารทอด เช่น ไก่ทอด มันฝรั่งทอด ทอดมัน ฯลฯ
- ถ้าเป็นอาหารประเภทผัด ต้องไม่ให้น้ำมันเยิ้มเกินไป เช่น ถ้าสั่งผัดผักบุ้งไฟแดง ไข่เจียว ต้องสั่งว่าไม่เอาน้ำมันเยิ้ม
- เลี่ยงอาหารที่บูด เสียง่าย เช่น ลาบ ยำ อาหารที่มีกะทิ
- สั่งเมนูที่มีความหลากหลาย ไม่สั่งเมนูซ้ำๆ บ่อยๆ เกินไป
- การรับอาหาร ใส่หน้ากากอนามัย ให้วางอาหารหน้าบ้าน ป้องกันการแพร่เชื้อ
- เตรียมเงินพอดี ไม่ต้องทอน หรือโอนเงินผ่านออนไลน์
- อาหารที่สั่งทำนานเกิน 3 – 4 ชั่วโมง ควรอุ่นอาหารให้ร้อนก่อนกินเสมอ
- กินอาหารที่ยังร้อนๆ อยู่ และควรเทอาหารลงในภาชนะสะอาดของแต่ละคน
- กินจาน/ชาม ของตัวเอง ไม่กินร่วมกับผู้อื่น
- ให้กินผลไม้หวานน้อยตาม เช่น มะละกอสุก ฝรั่ง แก้วมังกร สาลี่
- หลังกิน เก็บ และล้างภาชนะให้สะอาดทันที ป้องกันเชื้อโรคเจริญเติบโต
ทั้งนี้ ถ้าตั้งกักตัวอยู่บ้าน ควรกินอาหารในสัดส่วนที่ร่างกายควรได้รับ ครบถ้วน และหลากหลาย ลดอาหารหวาน มัน เค็ม บริโภคผักและผลเป็นประจำ คุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ รวมถึงการพักผ่อนที่เพียงพอและออกกำลังกายให้เหมาะสม จะช่วยรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง มีภูมิคุ้มกันโรคและ ไม่เจ็บป่วยง่าย
ที่มาของข้อมูล : สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
Pingback: เตรียมตัวรับมืออย่างไร หากมีการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19
Pingback: เปรียบเทียบวัคซีนโควิด -19 ประสิทธิภาพ อาการ side effect หลังรับวัคซีน
Pingback: ของไหว้ตรุษจีน 2564 สิ่งที่ควรทำและสิ่งห้ามทำ เสริมสิริมงคลให้ปีนี้เป็นปีเฮงเฮง
Pingback: หลังฉีด วัคซีนโควิด 19 อาการ? อาการลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดพบได้บ่อยไหม?