เป็นที่รู้กันดีว่าการระบาดอย่างหนักของเชื้อ COVID-19 ทำให้ทุกคนต้องปรับการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ และหากคุณเป็นคุณแม่ ตั้งครรภ์ ในยุค COVID-19 แล้วล่ะก็ ต้องมีความกังวลทวีคูณ ทั้งกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ ไหนจะกังวลเรื่่องไวรัส ไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจครรภ์แต่ละครั้งก็ระแวงไปหมด วันนี้เราได้เจอกับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วงโควิด-19 เลยได้สอบถามถึงความรู้สึกของเธอ จะเป็นอย่างไรบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ
ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักไวรัสโคโรนา (Coronavirus) กันก่อนนะคะ
ไวรัสโคโรนา (Coronavirus) เป็นตระกูลใหญ่ของไวรัสซึ่งอาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยในสัตว์หรือมนุษย์ ในมนุษย์พบว่าไวรัสโคโรนาเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคที่รุนแรงมากขึ้น เช่น โรคระบบทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle East respiratory syndrome: MERS) และโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (severe acute respiratory syndrome: SARS) ไวรัสโคโรนาที่ค้นพบล่าสุดทำให้เกิดการติดเชื้อ โควิด-19 (coronavirus disease 2019 หรือ COVID-19)
โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ระบาดได้รวดเร็วไปทั่วโลก เกิดจากเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนา (Corona) ชื่อ novel coronavirus (severe acute respiratory syndrome coronavirus-2: SARS-CoV-2) มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2562 โดยสามารถติดต่อผ่านทางการสัมผัสละอองฝอยจากการไอหรือจาม
8 กลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงมีอาการรุนแรงหากติดโควิด-19
เมื่อเป็นโรคนี้และยังไม่มีวัคซีนรักษาอย่างเป็นทางการ อีกทั้งการระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วในระดับ pandemic ทุกคนต้องคอยระมัดระวังและดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัดมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสรับเชื้อไวรัสนี้ได้ง่าย ซึ่งผู้ป่วยเรื้อรังด้วยโรคประจำตัวบางโรค หากติดโควิด-19 มักจะพบความเสี่ยงที่อาการจะเพิ่มความรุนแรงกว่าคนทั่วไป กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว พึงระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการติดโควิด-19 โดย 8 กลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงมีอาการรุนแรงหากติดโควิด-19 ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคปอดและทางเดินทางหายใจ โรคอ้วน โรคตับ ผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยโรคหัวใจ
และนอกเหนือจากผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว “หญิงตั้งครรภ์” ยังถือเป็นอีกกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังและดูแลมากเป็นพิเศษอีกกลุ่มหนึ่ง
“ หญิงตั้งครรภ์ ” เป็นอีกกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวังและดูแล ในช่วงยุค COVID-19
ทั้งนี้ ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายมากกว่าช่วงปกติ เช่น ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง ปริมาณการใช้ออกซิเจนในร่างกายเพิ่มขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของแม่ท้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์นั้น ส่งผลให้หากเจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงมากกว่าคนปกติ แม้ว่าข้อมูลปัจจุบันบ่งชี้ว่าแม่ตั้งครรภ์ ที่ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการไม่ต่างจากคนปกติ แต่การรักษาก็จะมีความซับซ้อนกว่า เช่น ต้องคำนึงถึงอายุครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านหนึ่งซึ่งเริ่มตั้งครรภ์ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เธอจะมีความกังวลหรือไม่และมีวิธีการดูแลรักษาสุขภาพอย่างไร วันนี้เธอพร้อมจะให้เราเป็นตัวกลางช่วยแชร์เรื่องราวและข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านอื่นๆต่อไปค่ะ
เราได้พูดคุยกับ “คุณหนิง” พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อายุ 35 ปี ช่วงที่ทำการพูดคุยนี้คุณหนิงมีอายุครรภ์ได้ประมาณ 31 สัปดาห์ ซึ่งใกล้กำหนดคลอดเข้ามาทุกที
ถึงแม้ว่าครั้งนี้จะเป็นการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 ของเธอ หากเป็นสภาวะปกติ เชื่อว่าเธอจะสามารถเตรียมตัวและรับมือกับการตั้งครรภ์ครั้งนี้ได้เป็นอย่างดีและไม่มีอะไรน่ากังวล แต่กลับกัน เมื่อการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรงของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 “คุณหนิง” บอกกับเราว่า เธอมีความกังวลอย่างมากในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ เพราะต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องของความสะอาดและดูแลตัวเองเป็น 2 เท่า
“ช่วงแรกๆ หนิงไม่กล้าออกไปไหน และระแวงทุกคนไปหมดเลยค่ะ เพราะช่วงนั้นโรคมันระบาดหนักมาก พบคนติดเชื้อรายใหม่ทุกวัน เราไม่รู้ว่าถ้าออกไปข้างนอกจะเสี่ยงไปสัมผัสกับใครบ้าง”
อย่างไรก็ตาม การที่เธอผ่านช่วงของความวิตกกังวลอย่างหนักมาได้นั้น มาจากทั้งการอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์เจ้าของไข้ที่รับฝากครรภ์ และการดูแลรักษาตัวเองอย่างมีวินัย
“เวลาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจครรภ์ คุณหมอก็จะให้คำแนะนำกับเราว่าควรปฎิบัติตัวยังไง และโรงพยาบาลที่ไปฝากครรภ์ก็มีหน่วยคัดกรองอย่างเข้มงวด แล้วก็แยกคนท้องออกไปอีกจุดที่ไม่ปะปนกับคนไข้อื่นๆ ก็ช่วยให้เราเบาใจได้มากขึ้น”
เธอยังแบ่งปันวิธีการดูตัวเองที่เธอทำตลอดช่วงการตั้งครรภ์ คือ
- ล้างมือ : “หนิงพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลา และเวลาไปหยิบจับอะไรก็จะล้างมือทุกครั้งค่ะ ยิ่งช่วงแรกๆล้างมือบ่อยมากๆค่ะ”
- สวมหน้ากากอนามัย : “นี่ก็เป็นอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือแมส ใส่ตลอดเวลา แม้ขณะนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศก็ใส่ตลอดค่ะ”
- ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น : “อย่างที่บอก หนิงแทบจะไม่ออกไปไหนเลยหากไม่จำเป็นจริงๆ ก็จะมีแค่ไปโรงพยาบาล กับออกไปทำงาน พอเลิกงานก็กลับบ้านเลยค่ะ”
- เดินทาง : “หนิงขับรถมาทำงานเอง ก็จะลดความเสี่ยงในการพบเจอผู้คนไปอีกทาง แล้วก็โชคดีตรงที่เพื่อนๆในออฟฟิศส่วนใหญ่ก็พักอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ของบริษัทอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยเป็นกังวลกับการสัมผัสเพื่อนร่วมงานค่ะ”
คุณหนิงยังฝากบอกอีกว่า ช่วงหลังๆเริ่มคลายความกังวลได้มากขึ้นเพราะสถานการณ์การระบาดภายในประเทศเริ่มควบคุมได้ แต่เธอก็ยังคงระมัดระวังและดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดเช่นเคย
และในขณะที่บทความนี้ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ คุณหนิงก็ได้ให้กำเนิดลูกน้อยของเธอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปลอดภัยทั้งแม่และลูก เธอได้ลูกผู้ชาย อีกทั้งร่างกายยังแข็งแรงสมบูรณ์ น่ารักน่าชังเป็นอย่างมากค่ะ
นอกจากนี้เรายังมีคำแนะนำดีๆจาก นพ. ร่มไทร เลิศเพียรพิทยกุล โรงพยาบาลกรุงเทพเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของคุณแม่ ตั้งครรภ์ ในยุค COVID-19 มาฝากกันเพิ่มเติม ดังนี้
แม่ตั้งครรภ์ดูแลตัวเองอย่างไรช่วง COVID-19 ??
- หลีกเลี่ยงไม่อยู่ที่แออัดและใช้ตามมาตรการ SOCIAL DISTANCING
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยแอลกอฮอล์
- ใส่หน้ากากอนามัยสม่ำเสมอ
- ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่ไอ จาม
- ไม่ใช้มือสัมผัสบริเวณตา จมูก ปาก
- ห้ามใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อนส้อม เป็นต้น
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารสุก สะอาด
- รับประทานวิตามินซีและวิตามินอีตามคำแนะนำของแพทย์
- พักผ่อนนอนหลับให้ครบ 8 – 10 ชั่วโมงต่อวัน
- ฟังเพลงหรือดูรายการบันเทิงที่ทำให้ผ่อนคลาย ไม่เครียด
- หากแม่ท้องยังทำงานแนะนำให้ Work From Home ในช่วงสถานการณ์ COVID-19
- หลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ เน้นใช้รถส่วนตัว
แม่ตั้งครรภ์ควรระมัดระวังสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ หากมีความกังวลและเกิดความผิดปกติของร่างกายสามารถปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์ได้ทันที
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
https://www.bangkokhospital.com/content/pregnant-mother-must-be-aware-of-covid-19
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/covid-19-pregnancy
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/april-2020/covid-19-there-are-eight-risk-groups
https://www.bangkokhospital.com/content/pregnant-mother-must-be-aware-of-covid-19
Pingback: เตรียมตัวรับมืออย่างไร หากมีการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19
Pingback: เปรียบเทียบวัคซีนโควิด -19 ประสิทธิภาพ อาการ side effect หลังรับวัคซีน
Pingback: ของไหว้ตรุษจีน 2564 สิ่งที่ควรทำและสิ่งห้ามทำ เสริมสิริมงคลให้ปีนี้เป็นปีเฮงเฮง
Pingback: 10 ไอเท็มเด็ดที่ทุกคนต้องมีในยุค โควิด ระบาด คร่าชีวิตคนนับล้าน