วันนี้จะขอมาแชร์ประสบการณ์ฝึกลูกเข้านอนให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ฟังกันนะคะ เพราะการนอนของลูกและพ่อแม่เป็นเรื่องสำคัญ นี่คือปัญหาที่พ่อแม่มือใหม่หลายคนต้องนอนไม่เต็มที่ จนกลายเป็นแพนด้า และมากไปกว่าการนอนนั้นก็คือการพาลูกเข้านอน เพราะชีวิตจริงมันไม่เหมือนกับในละคร ที่แกว่งเปลไปมา ลูกน้อยก็หลับปุ๋ย ในแต่ละวันคุณพ่อคุณแม่ได้นอนอย่างมีคุณภาพน้อยมาก โดยเฉพาะคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง และเป็นครอบครัวเดี่ยว ที่ไม่ได้มีคนช่วยเลี้ยง ไหนจะต้องปั๊มนม งานบ้านต่างๆนานา ไหนลูกร้องอีก เรียกว่าหาเวลาที่จะได้พักผ่อนน้อยสะเหลือเกิน ครอบครัวเราเองก็เป็นครอบครัวเดี่ยว ที่มีพ่อ แม่ ลูก เรากับสามี ก็อยากจะมีเวลาการนอนที่มีคุณภาพมากขึ้น จึงจับเข่าคุยกันว่าจะทำอย่างไรดีกับเรื่องการนอนของลูก เพราะมีบางครอบครัวลูกเขาช่างนอนได้ยาวแล้ว (อันนี้ไม่ได้เปรียบเทียบ แต่แค่อยากลอง ฝึกลูกเข้านอน ถ้าลูกเราปรับตัวได้ ก็จะส่งผลดีกับตัวเราเอง) เราก็อยากมีโมเม้นนั้นบ้าง เลยเอาวะสักตั้งนึง ลองดูก็ไม่เสียหายอะไร
บทความที่เกี่ยวข้อง
เราก็ทำการศึกษาโดยได้พูดคุยกับ Health visitor (ผู้เขียนอยู่ต่างประเทศ) ที่ดูแลเราและลูก สอบถามถึงข้อมูลต่างๆ เลยได้ข้อมูลมาดังนี้ค่ะ
ก่อนอื่นเราต้องมารู้วงจรการนอนของเด็กก่อนว่าเป็นอย่างไร
ความต้องการการนอนหลับของทารกแรกเกิด
ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะนอนหลับมากกว่าตื่น การนอนหลับทุกวันขอเด็กวัยนี้จะแตกต่างกันไป อยู่ที่ประมาณ 8 ชั่วโมง ถึง 16 หรือ 18 ชั่วโมง ทารกยังคงตื่นในเวลากลางคืน เพราะอาจจะหิว หรือผ้าอ้อมเปียกชื้น อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไปอาจรบกวนการนอนหลับของเด็กได้
ความต้องการการนอนหลับของทารกอายุ 3 ถึง 6 เดือน
เมื่อลูกน้อยของคุณโตขึ้นพวกเขาจะต้องมีการให้นมกลางคืนน้อยลงและจะสามารถนอนหลับได้นานขึ้น ทารกบางคนจะนอนหลับเป็นเวลา 8 ชั่วโมง หรือนานกว่าในเวลากลางคืน แต่ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เด็กทุกคนนะคะ ภายใน 4 เดือนทารกอาจจะใช้เวลาประมาณสองเท่าของการนอนหลับในเวลากลางคืน
ความต้องการการนอนหลับของทารกอายุ 6 ถึง 12 เดือน
สําหรับทารกอายุ 6 เดือนถึงหนึ่งปีการให้นมกลางคืนอาจไม่จําเป็นอีกต่อไป (สำหรับเด็กบางคนเท่านั้น) และทารกบางคนจะนอนหลับนานถึง 12 ชั่วโมงในเวลากลางคืน ความรู้สึกไม่สบาย ความหิว การงอกของฟันอาจทําให้ทารกบางคนตื่นขึ้นในเวลากลางคืน
ความต้องการการนอนหลับของทารกอายุ 12 เดือน
ทารกจะนอนหลับประมาณ 12 ถึง 15 ชั่วโมง
ความต้องการการนอนหลับของทารกอายุ 2 ปี
เด็ก 2 ปีส่วนใหญ่จะนอนหลับเป็นเวลา 11 ถึง 12 ชั่วโมงในเวลากลางคืนโดย 1 หรือ 2 งีบในเวลากลางวัน
ความต้องการการนอนหลับของทารกอายุ 3 ถึง 4 ปี
เด็กอายุ 3 หรือ 4 ปีส่วนใหญ่จะต้องนอนประมาณ 12 ชั่วโมง แต่บางคนอาจจะอยู่ในช่วง 8 ชั่วโมงถึง 14 ชั่วโมง เด็กเล็กบางคนยังคงต้องงีบหลับในระหว่างวัน
ตารางชั่วโมงการนอนของคน แบ่งตามช่วงอายุ
อายุ | จำนวนชั่วโมงในการนอนที่เหมาะสม | จำนวนชั่วโมงในการนอนที่สามารถยืดหยุ่นได้ |
เด็กแรกเกิด วัย 0-3 เดือน | 14-17 ชั่วโมง | 11-19 ชั่วโมง |
ทารก วัย 4-11 เดือน | 12-15 ชั่วโมง | 10-18 ชั่วโมง |
วัยหัดเดิน อายุ 1-2 ขวบ | 11-14 ชั่วโมง | 9-16 ชั่วโมง |
วัยอนุบาล อายุ 3-5 ขวบ | 10-13 ชั่วโมง | 8-14 ชั่วโมง |
วัยประถม อายุ 6-13 ปี | 9-11 ชั่วโมง | 7-12 ชั่วโมง |
วัยรุ่น อายุ 14-17 ปี | 8-10 ชั่วโมง | 7-11 ชั่วโมง |
วัยหนุ่มสาว อายุ 18-25 ปี | 7-9 ชั่วโมง | 6-11 ชั่วโมง |
วัยผู้ใหญ่ อายุ 26-64 ปี | 7-9 ชั่วโมง | 6-10 ชั่วโมง |
วัยสูงอายุ อายุ 65 ปีขึ้นไป | 7-8 ชั่วโมง | 5-9 ชั่วโมง |
ข้อมูลจาก National Sleep Foundation
การฝึกลูกเข้านอน (Sleep training) แบ่งเป็น 3 แบบหลักๆ คือ (1)
No-cry method
วิธีนี้เป็นวิธีที่ลูกน้อยจะไม่เสียน้ำตาในการนอน โดยคุณพ่อคุณแม่จะกล่อมลูกน้อยให้นอนจนลูกน้อยนอนหลับไป โดยวิธีการใดก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเป็นการอุ้ม หลับคาขวดนมหรือเต้าแม่ และเมื่อลูกน้อยร้อง พ่อแม่ก็ต้องไปหาลูก อุ้มหรือกล่อม จนกว่าลูกน้อยจะหลับ
Cry it out method
วิธีนี้อาจจะต้องมีน้ำตากันบ้าง นั่นก็คือเมื่อถึงเวลานอน ก็วางลูกนอนลงบนที่นอนของเขา แล้วหากลูกน้อยร้องก็ต้องปล่อยให้ลูกร้องจนไปจนกว่าเขาจะหยุดหรือหลับไป โดยที่พ่อแม่จะไม่เข้าไปดูลูกระหว่างลูกร้องอีกเลย ซึ่งเป็นการฝึกให้ลูกนอนด้วยตัวเองและจะมีผลต่อให้ลูกนอนหลับยาวขึ้น
-
Controlled crying method
วิธีนี้ดูเหมือนจะเป็นทางสายกลางระหว่างวิธี No-cry method และ Cry it out method ซึ่งวิธี Controlled crying method คุณพ่อคุณแม่กล่อมลูก เมื่อลูกเริ่มเคลิ้ม ก็วางลูกลงที่นอน หากลูกร้องก็ตั้งเวลาเพื่อเข้าไปดูลูกเป็นระยะๆ ตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งในส่วนของรายละเอีนดที่ครอบครัวเราฝึกลูก จะมาให้รายละเอียดกันในช่วงต่อไปค่ะ
โดยวิธีการของ Controlled crying method มีดังนี้ค่ะ
ขั้นตอนที่ 1: เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนกิจวัตรประจำวันแล้วนั้น ซึ่งขอใช้ทำว่า routine ซึ่ง routine ของครอบครัวเรานั่นก็คือ ดื่มนม อาบน้ำ เปิดไฟในห้องให้มีความสลัวๆ ร้องเพลงกล่อม (กิจกรรมต่างๆขึ้นอยู่กับของครอบครัวนั้นๆ) ซึ่ง routine ของครอบครัวเราจะเป็นแบบนี้ทุกวันในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ที่เราทำแบบนี้เป็นประจำนั้นก็เพราะเด็กเรียนรู้และจดจำในสิ่งที่พ่อแม่ทำให้เขาในทุกๆวัน และตัวลูกเองก็ได้เรียนรู้ว่านี่ถึงเวลาที่จะเข้านอนแล้ว หลังจากนั้นก็วางลูกลงบนที่นอนของลูก โดยที่นอนลูกต้องมีความปลอดภัย ซึ่งหากใครมีเบบี้มอนิเตอร์ ( baby monitor) ก็จะทำให้อุ่นใจ สำหรับเรานั้นติดกล้องวงจรปิดไว้ในมุมที่ลูกนอน จึงคลายความกังวลไปได้บ้าง แล้วบอกหลับฝันดีกับลูกน้อย ตามที่เราทำเป็น ก็หอมแก้มลูก NIGHT NIGHT. Don’t let the bedbugs bite. Love you to the moon and back, see you in the morning.
ขั้นตอนที่ 2: หากลูกร้องอย่าเพิ่งเข้าไปหาลูกนะคะ ให้ตั้งเวลาไว้ 2 นาที แล้วหากยังร้องอยู่อีกก็ค่อยเข้าไปดูลูก ในช่วงที่เข้าไปดูลูกนั้น อย่าเปิดไฟนะคะ ยังคงรักษาความสว่างที่มีไว้ให้เท่าเดิม ให้เข้าไปลูบหัว หรือแตะตัวลูก และอย่าอุ้มลูกขึ้นมาจากเตียงนะคะ (แต่ถ้าลูกดูมีความไม่สบายตัวแล้วนั้น ก็สามารถอุ้มขึ้นมาปรับเปลี่ยนท่านอนลูกได้) บอกฝันดี แล้วเดินออกจากห้องไปค่ะ
ขั้นตอนที่ 3: หากลูกยังร้องอยู่ คราวนี้ตั้งเวลาไว้เลยค่ะ 5 นาที (นานกว่ารอบแรกสักนิดนึง) แล้วหากยังร้องอยู่ ก็เข้าไปดูคะ ทำเหมือนเดิม ใฟ้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยังอยู่ในบ้าน ไม่ได้ไปไหนไกล แล้วก็บอกฝันดี แล้วเดินออกมา
ขั้นตอนที่ 4: หากลูกยังร้องอยู่ 😥 คราวนี้ตั้งเวลาให้นานขึ้นสัก 7 หรือ 8 นาที บอกฝันดี แล้วเดินออกมา
ขั้นตอนที่ 5: ทำตามขั้นตอนที่ 1-4 ต่อไปเรื่อยค่ะ
คือมันเป็นเรื่องยากที่จะได้ยินเสียงลูกน้อยร้องเป็นเวลานานๆ แต่ขอให้มั่นใจกับการตัดสินใจในการใช้วิธีที่เลือก ใจแข็งเข้าไว้คะ อย่าย่อท้อนะคะเพราะลูกน้อยก็ต้องเรียนรู้ในการนอนด้วยตัวเอง โดยที่จะไม่ร้องไห้
แล้วจะใช้เวลานานสักเท่าไหร่จึงจะเห็นผล
โดยการฝึกเด็กเข้านอนนั้น เด็กแต่ละคนก็จะใช้เวลาแตกต่างกันไป แต่ค่าเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 4-7 วัน (ข้อมูลจาก health visitor) ซึ่งลูกเรานั้นใช้เวลา 3 วัน แต่บอกเลยว่าเป็น 3 วัน ที่ทรมานใจคนเป็นพ่อเป็นแม่มากๆ แต่หลังจากนั้นชีวิตคุณจะดีขึ้นคะ มีเวลาที่จะทำเรื่องของตัวเองมากขึ้น
ถ้าถามว่า
ทำไมถึงเลือกใช้วิธี Controlled crying method ในการ ฝึกลูกเข้านอน
Controlled crying method มีผลการศึกษามากมาย ว่าวิธีนี้ไม่มีผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยของเรา และไม่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนอนของลูกให้ดีขึ้นอีกด้วย และทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุขขึ้น
หลายๆคนยังคงชั่งใจอยู่ว่าจะใช้วิธีนี้ดีมั๊ย เรามาดูข้อดีข้อเสียของวิธีนี้กันดีกว่าค่ะ ว่ามีอะไรกันบ้าง
ข้อดี
- ทำให้ลูกเรียนรู้การนอนได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ลูกนอนหลับได้ดีขึ้น แต่ในบางครั้งหากลูกป่วย ไม่สบาย หรือเปลี่ยนสถานที่นอนใหม่ ก็อาจจะมีงอแงบ้าง เป็นเรื่องปกติ
- เริ่มในเวลาที่หมาะสม นั่นหมายถึง เมื่อลูกถึงวัยที่เหมาะสม สุขภาพพร้อม ไม่ได้อยู่ในช่วงที่ป่วย
- แนะนำให้เริ่มในช่วงที่อยู่บ้าน ไม่ได้ไปเที่ยวหรือช่วงที่ย้ายที่นอน เพราะจะเป็นการทำให้ลูกน้อยของเราสับสนได้ว่าเกิดอะไรขึ้นไปกันใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้น
- ควรวางแผนเริ่มฝึกลูกเข้านอนในช่วงวันหยุดยาว หรือเริ่มในคืนวันศุกร์ เพราะลูกน้อยอาจจะร้อง จึงส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่เองก็หลับได้ไม่เต็มที่
- คุณพ่อคุณแม่เองก็จะได้ใช้เวลาด้วยกันหรือเวลาส่วนตัวมากขึ้นคะ เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่าเด็กบางคนต้องใช้เวลาในการกล่อมนานจนกว่าจะนอนหลับ
ข้อเสีย
- ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าการที่ไม่ตอบสนองลูกเมื่อลูกร้องนั้น อาจจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ปลอดภัยเหมือนโดนทอดทิ้งจากพ่อแม่
- พ่อแม่จะรู้สึกเครียดมากในช่วงที่ต้องปล่อยให้ลูกร้อง
- เสียงร้องของลูกน้อยอาจสร้างความรำคาญให้กับเพื่อนบ้านได้
เคล็ดลับในการฝึกลูกนอน
- อย่างที่เรารู้กันดีว่า “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว” การฝึกลูกนอน ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น อย่าคาดหวังว่าจะสำเร็จในวันแรก
- มีความคงเส้นคงวา ยึดกับขั้นตอนที่วางไว้เบื้องต้น (ตั้งเวลา) ถ้าได้กำหนดเวลาการเข้าไปดูลูกแต่ไม่ยึดตามกำหนด แล้วเข้าไปดูลูกเร็วเกินไป ความสำเร็จที่จะได้ก็จะช้าขึ้นไปอีก
- มีความแน่วแน่ มั่นคงในแนวทางนี้ที่เราใช้ อาจจะดูแบบทรมานใจลูกและเราเอง แต่ผลลัพธ์ออกมาแล้วถ้าลูกนอนหลับได้ด้วยตัวเองได้ และนอนยาวขึ้น เราเองนี่แหละที่จะสบายขึ้น
- ทำความเข้าใจกันภายในของสมาชิกในครอบครัว เพราะบางครอบครัวมีสมาชิกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นปู่ ย่า ตาย ยาย น้า อา ดังนั้นต้องพูดคุยทำความเข้าใจกันว่าจะฝึกลูกเข้านอนด้วยวิธีไหน และปรับแนวทางให้เหมาะสมกับครอบครัวของเรา
- ควรหยุดสะ! เมื่อลูกยังคงร้องติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหลายวัน คุณก็ควรหยุดพักวิธีการนี้เสียก่อน เพราะวิธีนี้อาจจะไม่เหมาะกับลูกของคุณก็ได้ แล้วหาวิธีอื่นๆดูที่เหมาะกับลูกน้อยของคุณ
สุดท้ายแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองนี่แหละค่ะ จะเป็นคนรู้ดีที่สุดว่าลูกของเราเหมาะกับการฝึกลูกนอนด้วยวิธีไหนดีที่สุด
สิ่งสำคัญที่ควรรู้ใน การฝึกลูกเข้านอน
- วิธี cry it out และ Controlled crying เหมาะกับเด็กที่มีอายุ 3 เดือนขึ้นไป แต่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะนำในช่วงอายุ 6 เดือน เนื่องจากเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน จะเสี่ยงกับอาการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อว่าโรคไหลตายในทารก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ฝึกลูกในขณะที่เป็นเด็กแรกเกิด จะง่ายกว่าฝึกเมื่อเป็นเด็กวัยเตาะแตะ (1 ขวบขึ้นไป) เนื่องจากเมื่อเด็กโตพอที่จะรู้เรื่องแล้ว อาจจะให้ความร่วมมือยากขึ้นหรืออาจจะใช้เวลานานขึ้นเพื่อให้สำเร็จ สำหรับตัวเราเองนั้นเริ่มใช้วิธี Controlled crying เมื่อลูกอายุประมาณ 3 เดือนค่ะ
- เราต้องมั่นใจว่าลูกดื่มนมเพียงพอ ลูกไม่หิวแน่นอน ก่อนที่จะพาลูกเข้านอน สำหรับตัวเรานั้นจะให้ลูกดื่มนมมื้อดึกมากกว่ามื้อปกติสักนิดนึงค่ะ
- ต้องมั่นใจว่าลูกร้องเพราะมีอาการไข้ หรืออยู่ในช่วงฟันกำลังจะงอก
- เตียงนอนลูกควรมีความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเตียงเด็ก (Cot) หรือการกั้นพื้นที่ให้ลูกนอน (Playpen) โดยโครงสร้างที่แข็งแรง ทนทานสูง เพราะเมื่อเด็กเริ่มวัยจับเกาะก็จะเริ่มสนุกกับการยืน โยกไปโยกมา ดังนั้นความแข็งแรงต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
แหล่งขาย Cot
- Baby monitor อันนี้ถ้าถามว่าจะเป็นมากมั๊ย อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของครอบครัว แต่ถ้ามีก็ถือว่าอุ่นใจค่ะสำหรับวิธีนี้ เพราะคุณพ่อคุณแม่จะต้องออกมานอกห้อง และในขณะนั้นลูกก็อาจจะร้อง เราเองก็ไม่สบายใจ แต่ถ้ามี Baby monitor ที่มีกล้องอยู่ด้วยแล้วนั้น พ่อแม่ก็อุ่นใจได้ว่าลูกร้องแต่ไม่ได้มีการเจ็บปวดหรืออันตรายใดๆ แต่สำหรับบ้านเรานั้นใช้กล้องวงจรปิด (เพราะมีอยู่แล้ว) หรือใครมี IP cam ก็สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้นะคะ
แหล่งขาย Baby monitor
- ไฟในห้องต้องสลัวๆ ส่วนตัวเราก็ใช้โคมไฟที่ปรับแสงได้ แทนที่จะเปิดไฟหลักของห้อง เพราะลูกน้อยจะรู้ว่าไฟสว่างสลัวๆแบบนี้ เป็นช่วงเวลาที่ต้องเช้านอนแล้ว แต่หากบ้านไหนไม่มีไฟแบบปรับความสว่างของแสงได้ก็สามารถนำผ้าหรืออุปกรณ์ที่สามารถใช้แทนได้มาบังแสง เพราะให้ไฟในห้องไม่สว่างจนเกินไปนะคะ
แหล่งขาย โคมไฟปรับแสง
สุดท้ายก็หากการ ฝึกลูกเข้านอน ด้วยวิธี Controlled crying แล้วไม่ได้ผล ก็ไม่ควรกดดันตัวเองและลูกน้อยนะคะ เพราะว่าการ ฝึกลูกเข้านอน ก็มีหลายวิธีที่จะมาพาลูกเข้านอน หรือจะเอาวิธีที่มีการศึกษาแล้วมาปรับให้เข้ากับบริบทของครอบครัวเราก็ได้นะคะ และหากคุณพ่อคุณแม่ มีความกังวล แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ดูนะคะ ว่าลักษณะของลูกเราเหมาะกับวิธีนี้หรือไม่
Resources ;
- Sleep training
- Controlled Crying, Cry It Out, No-Cry, or Soothe Baby to Sleep?
- Parental use of ‘cry it out’ in infants: no adverse effects on attachment and behavioural development at 18 months
- Advice & Guidance: Sleeping
- NHS – Controlled crying ‘safe for babies‘
- NHS – What you’ll need for your baby
- Is it OK to let a baby cry?
- NHS – Letting babies “cry it out” does not affect behaviour in later life, reports study