“สะพานไม้เคี่ยม” พลังความสามัคคีของคนชุมพร ฉบับสายรัก(ษ์)สงบ

สะพานไม้เคี่ยม ที่ตั้ง

เล่าเรื่องเที่ยวในยุคโควิด-19 ฉบับสายรัก(ษ์)สงบ แบบสนุกๆ ครั้งหนึ่งที่ได้ไปเยือนเมืองชุมพร ขึ้นชื่อว่าเป็น “ประตูสู่แดนใต้” ต้องได้แวะถ่ายรูปสวยๆตรงไหนสักที่สิ แต่สายชอบความสวยแบบ สงบๆ เหงาๆ คนน้อยๆ แบบเรา ต้องรีบพุ่งไปยังสถานที่ที่เรียกว่า “สะพานไม้เคี่ยม” ซึ่งคิดว่าหลายคนไม่เคยได้ยินสถานที่แห่งนี้ สถานที่สงบ คนน้อย ถ่ายภาพสวย เหมาะกับคนที่ชอบถ่ายรูปแบบชิคๆ คูลๆ อาจจะเหงาๆหน่อยถ้ามาคนเดียว แต่บอกได้เลยว่าความสงบ ที่โอบล้อมด้วยลมเย็นๆ ท้องฟ้าสดใส มันดีจริงๆนะ ยิ่งใช้เวลาอยู่กับสะพานแห่งนี้ไปนานๆ ยิ่งรู้สึกหลงรัก “สะพานช่างสวยงามมาก” และยังน่าค้นหา จนอดไม่ได้ที่จะต้องหาที่มาที่ไปของสะพานแห่งนี้ เอาล่ะ เกริ่นนำมาเยอะละ เรามาดูบรรยากาศจริงๆเลยดีกว่า

บทความที่เกี่ยวข้อง

สะพานไม้เคี่ยม สร้างสะพานให้เป็นรูปตัว S

สะพานไม้เคี่ยม จ.ชุมพร สะพานที่เป็นทางเดินข้ามน้ำแห่งนี้จะสวยงามมากเป็นพิเศษ ในช่วงแสงอาทิตย์ทอแสง ทอดลงบนผืนน้ำอย่างงดงาม

เป็นสะพานที่เกิดจากความอดทน ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ แต่เป็นความภูมิใจของคนชุมพรเลยก็ว่าได้ สะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554 ด้วยแรงคนเพียงแค่ 7 คน ใช้เวลาสร้างกันประมาณ 45 วัน หรือประมาณเดือนครึ่ง ระยะทางของสะพานประมาณ 290 เมตร ซึ่งอยู่กลางพื้นที่แก้มลิงที่เรียกว่า “แก้มลิงหนองใหญ่ ตามแนวพระราชดำริ” ตั้งอยู่ที่ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยได้สร้างสะพานขึ้นจากไม้เคี่ยม (ไม้เคี่ยม : เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นตั้งตรง มีความสูงประมาณ 20-40 เมตร และเป็นไม้ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่น่าจะมีมากแถวๆชุมพรด้วยเช่นกัน)

การวางรูปแบบของสะพาน พวกเขาได้สร้างสะพานให้เป็นรูปตัว S เพราะลักษณะของตัว S เปรียบเสมือนการเดินทางของชีวิตที่บางครั้งคดเคี้ยวบ้างเพื่อเป็นบททดสอบของชีวิต บางครั้งการใช้ชีวิตก็ง่ายมากเหมือนทางตรงที่ไม่มีอุปสรรคอะไรเลย แต่จนกว่าจะถึงจุดหมายหลายครั้ง ต้องยืนหยัดต่อสู้ทั้งแรงลม แรงพายุฝน เสมือนกับคนที่ต้องยืนหยัดต่อสู้กับชีวิต จนต่อมาในปี พ.ศ.2560 สะพานเกิดการทรุดโทรมมาก ทางจังหวัดชุมพรจึงได้รื้อถอนและสร้างใหม่ทดแทนของเดิม ในการปรับปรุงครั้งนั้นได้มีการนำเสาเข็มคอนกรีตเสริมเหล็กมาช่วยเสริมความแข็งแรงของสะพาน แต่ก็ยังคงใช้ไม้เคี่ยมเป็นวัสดุหลักตามชื่อสะพานที่เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงไม้ที่นำมาสร้างสะพานได้อย่างชัดเจน และยังให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยการเป็นผู้จัดหาไม้เคี่ยมตามกำลัง   คนละแผ่น เพื่อปูพื้นทางเดิน สะพานแห่งนี้ใช้ไม้เคี่ยมเป็นจำนวนถึง 2,900 แผ่น ตะปูตอก 140 กิโลกรัม ซ่อมแซมเสร็จภายในวันเดียว ทำให้สะพานในครั้งนี้เป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาวชุมพร

สะพานไม้เคี่ยม : โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบล บางลึก อำเภอเมืองชุมพร
สะพานไม้เคี่ยม ระยะทางของสะพานประมาณ 290 เมตร

ระหว่างทางที่เดินบนสะพานมีทางคดโค้ง สูงๆ ต่ำๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้สร้างจริงๆ แต่เมื่อเดินไปจนสุดสะพานจะพบกับเกาะเล็กๆ ที่มีความสวยงาม สงบ และความเป็นธรรมชาติ มีฝูงไก่อาศัยอยู่ด้วย คอยส่งเสียงต้อนรับผู้มาเยือนได้อย่างอบอุ่น ทุกๆคนสามารถเดินเล่นได้รอบเกาะ หากใครยังติดใจจนไม่อยากกลับบนเกาะแห่งนี้ก็มีที่พักให้บริการด้วยนะคะ เผื่อใครอยากสัมผัสบรรยากาศทั้งกลางวันและกลางคืนก็แวะค้างคืนได้

สะพานไม้เคี่ยม สะพานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2554
สะพานไม้เคี่ยม สะพานมีทางคดโค้ง

ส่วนบรรยากาศรอบๆ ก็จะมีแหล่งศึกษาธรรมชาติตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะมีการเรียนรู้หลายๆส่วนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำเชื้อเพลิงในครัวเรือน การทำปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ การปลูกพืช ผักสมุนไพร และที่สำคัญ บนเกาะแห่งนี้มี “บ้านดิน” ซึ่งเป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้ตามแบบฉบับเศรษฐกิจพอเพียง และยังมีส่วนการเรียนรู้อื่นๆอีกมากมาย ก่อนกลับเราก็ยังสามารถหาซื้อพืช ผัก สมุนไพร ที่เก็บเกี่ยวได้จากที่นี้เป็นของฝาก   เพื่อสุขภาพได้อีกด้วย

สะพานไม้เคี่ยม บนเกาะแห่งนี้มี “บ้านดิน”
สะพานไม้เคี่ยม บนเกาะแห่งนี้มี “บ้านดิน”

เราเดินทางกลับออกมาพร้อมความรู้สึกที่อิ่ม เราอิ่มทั้งใจ อิ่มทั้งกาย ความรู้สึกเมื่อมาสัมผัสสถานที่แห่งนี้ได้รู้ประวัติคร่าวๆว่ากว่าจะมาเป็นสะพานแห่งนี้ได้ต้องใช้ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจกันของหลายๆคน ทำให้รู้สึกประทับใจมาก ทำให้การถ่ายภาพมีความทรงจำที่แสนอบอุ่นเพิ่มเข้าไปอีก หากใครว่างๆมาเที่ยวชุมพร หรือผ่านไปผ่านมา แวะมาได้นะคะ ท่องเที่ยววิถีชุมชน เราอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ใครๆก็อยู่ได้จ๊ะ และขอปิดท้ายด้วยภาพที่เพิ่มพลังบวกให้เราได้อีกเพียบเลย

“สะพานไม้เคี่ยม” ชุมพร
“สะพานไม้เคี่ยม” พลังความสามัคคีของคนชุมพร

ที่ตั้งและการเดินทาง สะพานไม้เคี่ยม

พิกัด : โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบล บางลึก อำเภอเมืองชุมพร ชุมพร 86000

การเดินทาง : เริ่มจากตัวเมือง จ.ชุมพร ขับรถบนถนนพิศิษฐ์พยาบาลมุ่งตรงไปสู่ถนนหมายเลข 3180 เลี้ยวซ้ายไปยังถนนหมายเลข 1007 หลังจากนั้นขับต่อไปอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร จะถึงทางแยกให้เลี้ยวขวาไปทางสวนสาธารณประโยชน์ก็จะถึงที่หมาย “โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : – การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานชุมพร โทร.077 502 775

– สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดชุมพร โทร.077 511 730

บทความที่น่าสนใจ